ประวัติพระบิดาแห่งกฎหมายไทย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
ทรงพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์" เป็น พระราชโอรสองค์ที่ 14
ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ประสูติแก่เจ้าจอมมารดาตลับ ณ วันพุธ ขึ้น 11 ค่ำเดือน 11 ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236
ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2417
พระองค์ได้เข้าพิธีพระราชโสกันต์ในวันที่ 26 ธันวาคม 2427
พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 อีก 3 พระองค์
และทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌายะ
หลังจากเสร็จพระราชพิธีสมโภชแล้วจึงทรงเสด็จ มาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร
รวมเวลาที่พระองค์ได้ทรงผนวชทั้งสิ้น 22 วัน
เนื่องจากช่วงเวลานั้น
ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแผ่อำนาจแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่าจะโปรดเกล้าฯ
ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธออีก 3
พระองค์ ไปศึกษาต่อยังทวีปยุโรปและ ประเทศอังกฤษ
เพื่อนำวิชาความรู้มาพัฒนาบ้านเมืองให้เทียมทันอารยประเทศ
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมในประเทศอังกฤษแล้ว
พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย
เนื่องจากขณะนั้นนานาประเทศที่ทำสนธิสัญญากับประเทศไทยไม่ยอมรับกฎหมายไทยว่าเสมอด้วยกฎหมายของ
อารยประเทศ ทำให้มีปัญหาต่อการปกครองและมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนอยู่เนืองนิจ
พระองค์ทรงสอบไล่ได้ ตามหลักสูตรปริญญา B.A.(oxon) ชั้นเกียรตินิยมภายในเวลาเพียง 3
ปี พระชันษาได้ 20 พรรษา
เมื่อพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์
เสด็จกลับสยามประเทศแล้วก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการใน กรมราชเลขานุการ
ทรงสามารถทำงานในกรมนั้นได้ทุกตำแหน่ง ประกอบกับทรงร่างพระราชหัตถเลขา
ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง
จึงได้รับการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีในปีเดียวกันนั้น
|
แต่ในเวลานั้น
เอกราชทางการศาลของประเทศสยามได้รับความกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก กล่าวคือ
สยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritorial rights) ให้แก่ชาวต่างชาติ
ที่มาพำนักในสยามประเทศหลายครั้ง ด้วยเหตุที่กฎหมายยังมีความล้าสมัยอยู่มาก
พระองค์จึงทรง ตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะเข้ารับราชการตุลาการ
ทรงเข้าศึกษากฎหมายไทยโดยการค้นคว้าจากราชเลขานุการ ฝ่ายกฤษฎีกา
โดยมีขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)
และเจ้าพระยามหิธรเป็นผู้ถวายความสะดวก
ในปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งข้าหลวง พิเศษขึ้นคณะหนึ่ง
เพื่อจัดการศาลหัวเมืองในมณฑลอยุธยาเป็นแห่งแรก โดยให้เสด็จในกรมฯ เป็น
สภานายกพิเศษ ทรงตัดสินคดีทั้งปวงด้วยพระองค์เอง
โดยความรวดเร็วและยุติธรรมเป็นที่ปรากฏใน พระปรีชาสามารถแก่หมู่ชนในมณฑลนั้น
เนื่องด้วยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร
เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้ประชวร จึงกราบ บังคมลาออกจากตำแหน่งในปี พ.ศ. 2440
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมี พระบรมราชโองการแต่งตั้งเสด็จในกรมฯ
ขึ้นเป็นเสนาบดีสืบแทน นับเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ลำดับ 3
ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 22 พรรษา เสด็จในกรมฯ ทรงสนพระทัยและหาหนทางในการ
ปรับปรุงแก้ไข จัดระเบียบศาลและการยุติธรรมทั่วประเทศไทยให้เรียบร้อย
ทรงมีพระราชดำริใน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ว่า มี 2 แนวทางคือ
การทำให้บ้านเมืองมีกฎหมายดี และการทำศาลให้มี ผู้พิพากษาที่ดี และมีคุณธรรม
หลังจากที่พระเจ้าลูกยาเธอ
พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้เข้ารับราชการและบำเพ็ญคุณความดีเป็น
ประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอันมากแล้ว จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาขึ้นเป็น
พระองค์เจ้า ต่างกรม มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าลูกยาเธอ
กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นาคนาม" ในปี พ.ศ. 2442
นับเวลาที่เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีเป็นระยะเวลา 4 ปี
ระหว่างนั้นได้ทรงตรากฎและคำสั่ง
เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการฝ่ายการศาลยุติธรรมไว้หลายฉบับ ตั้งแต่ปี ร.ศ. 115 ถึง
ร.ศ. 120 ทั้งหมด รวม 28 ฉบับ ต่อมาใน ร.ศ. 121
ได้ทรงดำรัสให้ยกเลิกกฎเสนาบดีชุดก่อนเสียทั้งหมด และทรงตรากฎ
และคำสั่งออกใช้ใหม่ถึง 67 ฉบับ
ซึ่งบรรดากฎและคำสั่งเหล่านี้นับเป็นที่มาของกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมบางมาตราในปัจจุบัน
ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้เสด็จในกรมฯ ดำรง ตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
ทรงดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียวก็ได้รับพระบรมราชโองการ เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง
มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวง
ราชบุรีดิเรกฤทธิ์คชนาม" จนกระทั่ง พ.ศ. 2462 เสด็จในกรมฯ
ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ
จึงทรงกราบบังคมทูลลาออกและได้เสด็จไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส
แต่พระอาการไม่ทุเลาลง จนกระทั่งในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เวลา 21.00 น.
พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็เสด็จสิ้นพระชน ณ กรุงปารีส
นับพระชนมายุเรียงปีได้ 47 พรรษา บรรดาศิษย์และบุคคลที่คุ้นเคย
ได้พร้อมใจอัญเชิญพระอัฐิของพระองค์เข้ามาบำเพ็ญกุศลในกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. 2497
เนติบัณฑิตสภาได้เริ่มต้นเรียกวันที่ 7 สิงหาคม ว่า "วันรพี" พร้อมทั้งจัดงาน
บำเพ็ญกุศลทักษิณานุสรณ์เป็นต้นมาประจำทุกปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น