ศาลปกครอง (Administrative Court)
คือศาลที่มีหน้าที่พิจารณาคดีปกครองระหว่างรัฐกับราษฎร หรือระหว่างองค์กรของรัฐ ด้วยกันเอง ทั้งนี้ เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน โดยในแต่ละคดีจะมีการพิจารณาโดยองค์คณะของตุลาการ ต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ศาลปกครองแบ่งออกเป็น "ศาลปกครองชั้นต้น" และ "ศาลปกครองสูงสุด"
ศาลปกครองชั้นต้น
ศาลปกครองกลาง มีอำนาจตัดสินคดีในเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 7 จังหวัดใกล้เคียง หรือคดีที่ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง ศาลปกครองในภูมิภาค ปัจจุบันมี 7 แห่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก ระยอง และนครศรีธรรมราชศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจตัดสินคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยตรง หรือคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
การจัดตั้งศาลปกครอง พิจารณาคดีระหว่างรัฐกับราษฎร มีเหตุผลสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
ประการแรก รัฐในปัจจุบันมีบทบาทและความรับผิดชอบในชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า อำนาจของรัฐมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย การกระทบกระทั่งระหว่างรัฐกับราษฎร ก็ต้องมากขึ้น ศาลยุติธรรมคงจะไม่สามารถรับพิจารณาคดีปกครองได้ทั้งหมด และอำนวยผลดี
ประการที่สอง การพิพาทระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นการพิพาทที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่างไปจากการพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน คือเป็นการพิพาทที่คู่กรณี ไม่อยู่ในฐานะเสมอภาคกัน เพราะฉะนั้น การใช้หลักกฎหมายธรรมดาในคดีปกครองนั้น คงจะไม่ถูกต้องนัก หรือศาลไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ มองในแง่ความยุติธรรมที่ราษฎรจะพึงได้รับ เนื่องจากรัฐ มีอำนาจเหนือกว่าราษฎร โดยประการที่การพิพาทระหว่างรัฐกับราษฎรมีลักษณะพิเศษดังกล่าว หลักกฎหมายที่จะนำมาใช้ปรับคดี เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ก็ควรจะต้องเป็นหลักกฎหมายพิเศษ เช่นกัน และหลักกฎหมายดังกล่าวนี้ ศาลปกครองเท่านั้น จะสร้างขึ้นมาได้
ศาลปกครอง จะทำหน้าที่ประสานประโยชน์ระหว่างรัฐกับราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของราษฎร และพิทักษ์อำนาจรัฐ มิให้อำนาจรัฐทำลายเสรีภาพของราษฎร และเสรีภาพของราษฎรทำลายอำนาจรัฐ ศาลปกครองจะทำให้ทั้งสองอย่างเข้ากันได้ โดยรักษาประโยชน์ ของส่วนรวมไว้ได้ และขณะเดียวกัน ก็ให้ความยุติธรรมแก่ราษฎร
แนวความคิดทางการเมืองและการปกครองปัจจุบันที่น่าสนใจคือ การที่ประชาชนมอบอำนาจ ให้รัฐบาลจัดการปกครองประเทศเพื่อความผาสุกของตนแล้ว ใครจะเป็นผู้คอยควบคุมดูแลหรือปกครองรัฐบาลอีกทีหนึ่ง จะมีวิธีการอย่างใด และมีขอบเขตแค่ไหนที่ข้าราชการผู้ใช้อำนาจจะถูกควบคุม เพื่อป้องกันมิให้ใช้อำนาจไปในทางผิด ในการปฏิบัติทั่วไป การควบคุมรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีสภาผู้แทนราษฎร และสื่อมวลชนต่างๆ ทำหน้าที่ ควบคุม รัฐบาลอยู่แล้ว แต่ก็กล่าวได้ว่า เป็นการควบคุมที่ห่างเหินเกินไป หลายประเทศได้คิดค้นกลไกควบคุมฝ่ายบริหาร ขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไป อาจจะสรุปได้เป็นแบบใหญ่ๆ ได้ 4 วิธีคือ
1. แบบฝรั่งเศส ซึ่งมีกลไกควบคุมฝ่ายปกครองโดยศาลปกครอง2. จัดให้มีศาลปกครองพิเศษเป็นแผนกหนึ่งของศาลยุติธรรม ดังที่ปฏิบัติอยู่ในสหพันธรัฐเยอรมัน3. วิธีพิจารณาคดีพิเศษ เฉพาะข้าราชการบางประเภทที่ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ เช่น การฟ้องร้องประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ต่อสภาสูง (Senate) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรียกว่า “Impeachment”4. จัดให้มีผู้ตรวจการหรือออมบุดส์แมน (Ombudsman) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่รัฐสภาแต่งตั้ง ให้มีอำนาจหน้าที่ รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนผู้เห็นว่าสิทธิของตนถูกละเมิด โดยการกระทำของฝ่ายปกครอง อาจเป็นการกระทำนอกเหนือกฎหมาย หรือการใช้ดุลพินิจอันไม่สมควร ดังที่ปฏิบัติอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์คและประเทศไทย เป็นต้น
ประเทศในภาคพื้นยุโรปหลายประเทศ มีศาลปกครองทำหน้าที่พิจารณาคดีอันเป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน องค์การของรัฐด้วยกันเองและข้าราชการกับประชาชน ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ศาลปกครองดังกล่าวนี้ จะถือหลักว่าด้วยความถูกต้องในการใช้อำนาจของรัฐและหลักการว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ
หลักว่าด้วยความถูกต้องในการใช้อำนาจของรัฐ หมายความว่า อำนาจรัฐที่มีอยู่จะต้องใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือศาลปกครอง เป็นผู้ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ ส่วน หลักการว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ มีสาระสำคัญว่า อำนาจของรัฐต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งหมายถึงการกระทำใด ๆ ของรัฐ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน รัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรืองดเว้นปฏิบัติ เพื่อมิให้ความเสียหายเกิดขึ้น
การจัดตั้งศาลปกครองที่ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติอยู่ สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ระบบ
ระบบแรก ให้ศาลปกครองขึ้นต่อศาลยุติธรรม แต่ระบบศาลปกครองที่ขึ้นกับศาลยุติธรรม มีจุดอ่อนอยู่ที่ว่า หลักกฎหมายที่ใช้ในศาลปกครอง และศาลยุติธรรมมีข้อแตกต่างกัน หรือจะทำให้เหมือนกันได้ยาก ในทางปฏิบัติ จึงมักจะเกิดความสับสน เมื่อมีการอุทธรณ์ ฎีกาจากศาลปกครองไปสู่ศาลยุติธรรม เพราะศาลปกครองจะใช้หลักกฎหมายอย่างหนึ่ง ศาลยุติธรรมจะใช้หลักกฎหมายอีกอย่างหนึ่งระบบที่สอง โดยการแยกศาลปกครอง ออกเป็นศาลหนึ่งต่างหาก มีองค์การและเจ้าหน้าที่ของตนเอง ไม่ขึ้นต่อศาลยุติธรรม การจำแนกระบบศาลปกครองดังระบบที่สอง ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทยเป็นต้น
ประเทศที่แยกศาลปกครองและศาลยุติธรรมออกจากกัน หรือใช้ระบบศาลคู่ คือ แยกศาล ออกเป็นสองสาย ในแต่ละสายมีศาลสูงสุดของตัวเอง ศาลทั้งสองต่างเป็นอิสระต่อกัน และต่างมีหน้าที่ ของตน อย่างไรก็ดี ระบบที่แยกศาลออกเป็นสองสายนี้ ก็มีปัญหายุ่งยากอยู่บ้าง กล่าวคือ เกิดความขัดแย้งกันใน 3 รูป ได้แก่ (1) การขัดแย้งกันในอำนาจศาล (2) การขัดแย้งกันในเรื่องของการปฏิเสธ ให้ความยุติธรรม ทั้งนี้ โดยที่แต่ละศาลวินิจฉัยว่าตนไม่มีอำนาจพิจารณาคดี และ (3) การขัดแย้งกัน ในการตัดสินของศาล กรณีเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อศาลยุติธรรมและศาลปกครอง พิจารณาคดีเดียวกัน แต่การตัดสินของศาลขัดกัน เช่น นาย ก. อาศัยรถยนต์ส่วนตัว ของนาย ข. ไปทำธุรกิจ รถคันที่นาย ก. นั่งไป เกิดชนกับรถของทางราชการ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ประการแรก นาย ก. อาจจะฟ้องคนขับรถ ที่ตนนั่งไป ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งศาลยุติธรรม อาจจะวินิจฉัยว่า ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบนั้น คือคนขับรถราชการ และแนะนำให้ไปฟ้องศาลปกครอง นาย ก. ไม่รู้จะไปฟ้อง ณ ศาลใด อย่างไรก็ดี ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นแบบฉบับของการใช้ระบบศาลคู่ ได้แก้ปัญหาขัดแย้งนี้ โดยการจัดตั้งศาลปกครองพิเศษขึ้น เรียกว่า “Tribunal des Conflite” หรือศาลพิจารณาการขัดแย้ง ประกอบด้วย ผู้พิพากษา ของศาลยุติธรรมสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด แต่ละฝ่ายจำนวนเท่ากัน ศาลนี้จะทำหน้าที่วินิจฉัยว่า ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง มีเขตอำนาจหน้าที่เหนือคดี และศาลนี้จะต้องตัดสินคดีเอง หากศาลยุติธรรม และศาลปกครอง ตัดสินชี้ขาดขัดแย้งกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น