รูปจาก www.dailynews.co.th
ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ศาลโลก (World Court) ตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2489 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นองค์การสำคัญทางศาลของสหประชาชาติในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน สืบต่อจากศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศของสันนิบาตชาติ (Permanent Court of International Justice) ตามบทบัญญัติต่อท้ายกฎบัตรองค์การสหประชาชาติ มีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีใดๆ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ 2 ประเทศขึ้นไป (Contentious Case) เช่น ข้อพิพาทเรื่องดินแดนอาณาเขต การละเมิดอำนาจอธิปไตย ปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ หรือแม้แต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่รัฐเป็นผู้ฟ้องแทน ฯลฯ ทั้งนี้ประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องยินยอมรับอำนาจศาลให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินก่อนเท่านั้น ศาลจึงจะมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีนั้นได้
นอกจากนี้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในทางกฎหมาย ระหว่างประเทศ (Advisory Opinion) ในสามกรณีหลัก คือ กรณีแรก ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ร้องขอ กรณีที่สอง ตามที่องค์กรอื่นภายใต้สหประชาชาติหรือองค์การชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติร้องขอโดยได้รับการอนุมัติจากสมัชชาใหญ่ และ กรณีที่สาม ตามที่ได้มีการให้อำนาจวินิจฉัยปัญหาไว้โดยสนธิสัญญา
เมื่อปี พ.ศ. 2502 ประเทศไทยเคยเกี่ยวข้องกับศาลโลกในคดีปราสาทเขาพระวิหารกับประเทศกัมพูชา โดยผลสรุป คือ ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินข้อตัดสินทางกฏหมาย เฉพาะประเทศเท่านั้น มิใช่บุคคล ที่จะนำเรื่องขึ้นสู่ศาลนี้ได้ เมื่อประเทศหนึ่งใด เห็นพ้องที่จะให้ศาลโลกดำเนินการ ประเทศนั้นจะต้องสัญญา ว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสิน
องค์ประกอบของศาลระหว่างประเทศ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศประกอบด้วยสมาชิก 15 คน ซึ่งในจำนวนนี้จะมีผู้พิพากษาซึ่งเป็นคนชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งเกินหนึ่งคนมิได้ โดยสมาชิกเช่นว่านั้นจะได้รับการเลือกตั้งจากสมัชชาใหญ่ การเสนอซึ่งนามของกลุ่มประเทศ จากศาลสถิตย์อนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ ผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลก มากกว่าที่จะได้รับเลือกมาจากรัฐบาลของรัฐใดรัฐหนึ่ง โดยสมาชิกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะอยู่ในตำแหน่ง 9 ปี และอาจได้รับเลือกอีกได้ ทั้งนี้ สมาชิกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ 5 คน จะต้องออกจากตำแหน่งทุกๆ 3 ปี
เขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
เขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจำแนกออกเป็นสองลักษณะ กล่าวคือ
1.) เขตอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททั้งปวงที่รัฐคู่พิพาทเสนอต่อศาล ในลักษณะที่เป็นกระบวนพิจารณา ในลักษณะของการต่อสู้ความ (contentious proceeding) ทั้งนี้เฉพาะ “รัฐ” เท่านั้นที่จะเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาดังกล่าวนี้ได้ และ
2.) เขตอำนาจในการให้คำแนะนำ (advisory opinion) ในปัญหาข้อกฎหมายตามที่องค์กรใดๆ อาจได้รับมอบอำนาจให้ขอความเห็นแนะนำเช่นว่านั้น หรือตามกฎบัตรสหประชาชาติ เช่น สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือคณะมนตรีความมั่นคง และองค์กรอื่นๆของสหประชาชาติ ตลอดทั้งทบวงการชำนัญพิเศษ (specialized agencies) ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ
กฎหมายระหว่างประเทศที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาท
กฎหมายระหว่างประเทศที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลนั้น ปรากฏอยู่ในข้อ 38 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่
1.) อนุสัญญาระหว่างประเทศไม่ว่าทั่วไป หรือโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับโดยชัดแจ้งโดยที่รัฐกล่าวอ้าง
2.) จารีตประเพณีระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นหลักฐานแห่งการถือปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมาย
3.) หลักกฎหมายทั่วไปซึ่งอารยประเทศยอมรับ
4.) ภายใต้บังคับแห่งบทของข้อ 59 คำพิพากษาของศาล และคำสอนของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงของประเทศต่างๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องช่วยในการพิจารณากำหนดหลักกฎหมาย
นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ยังมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยอาศัยหลักความยุติธรรม และความรู้สึกผิดชอบอันดี หากคู่กรณีตกลงตามนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น