วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

กฎหมายอาญา

  หลักการพื้นฐาน
 
              (ก) หลักการกำหนดโทษทางอาญาจะต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้อย่างชัดเจน
 
                   หมายความว่าการกระทำใดเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่  เป็นความผิดประเภทใดและต้องถูกลงโทษฐานใดจะต้องบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนในบทบัญญัติของกฎหมายอาญา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิดทางอาญา การกระทำสิ่งนั้นย่อมไม่เป็นความผิดทางอาญา  ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดว่าการกระทำใดต้องรับโทษทางอาญา การกระทำสิ่งนั้นย่อมไม่ต้องรับโทษทางอาญา
 
              (ข) หลักการการกำหนดโทษจะต้องเหมาะสมกับฐานความผิด
 
                  หมายความว่าการกำหนดโทษจะต้องสอดคล้องกับฐานความผิด กล่าวคือ ความผิดกำหนดโทษทางอาญา ความผิดหนักต้องลงโทษหนัก ความผิดเบาต้องลงโทษเบา ความผิดและโทษต้องเหมาะสมต่อกัน การลงโทษต้องสอดคล้องกับความผิด
 
              (ค) หลักทุกคนเสมอภาคบนกฎหมายเดียวกัน
 
                  การกำหนดว่าพฤติกรรมใดเป็นความผิดทางอาญา และความผิดทางอาญาใดควรจะลงโทษอย่างไร จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด บุคคลใดจะมีอภิสิทธิ์เหนือบุคคลอื่นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มิได้
                   หลักการพื้นฐานเหล่านี้ถือเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของกฎหมายอาญา
 
          สภาพการบังคับใช้
 
                กฎหมายอาญาจะมีสภาพบังคับใช้ ณ ที่ใด กับบุคคลใด และเมื่อไหร่ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายจะมีผลย้อนหลังหรือไม่ ถือเป็นขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมายอาญา
ในการพิจารณาเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน
 
            (ก) ขอบเขตการบังคับใช้
 
                  โดยหลักแล้วดูที่อาณาเขตพื้นที่ที่มีการกระทำความผิดเป็นหลัก ส่วนผู้กระทำความผิดและสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองเป็นรองพิจารณาควบคู่กันไป กล่าวคือ โดยหลักแล้วการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในเขตอาณาจักรของประเทศจีนให้บังคับใช้กฎหมายอาญาจีน เว้นแต่ 4 กรณี คือ
 
             - กรณีบุคคลผู้ได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการทูต
             - กรณีที่เขตปกครองตนเองของชนชาติส่วนน้อยได้มีกฎระเบียบท้องถิ่นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
             - กรณีที่มีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะไว้เป็นกรณีพิเศษ
             - กรณีเขตบริหารพิเศษมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
 
             สำหรับกรณีประชาชนจีนกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาจีนนอกเขตอาณาจักรประเทศจีน ให้บังคับใช้กฎหมายอาญาของจีน แต่ถ้าหากความผิดนั้นตามกฎหมายอาญาจีนกำหนดโทษไว้ต่ำกว่า 3 ปี  อาจไม่ถูกดำเนินคดี
             กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่หรือทหารของรัฐบาลจีนกระทำความผิดอาญาตามที่กฎหมายอาญาจีนบัญญัติไว้นอกเขตอาณาจักรประเทศจีน จะต้องรับโทษตามกฎหมายอาญาจีน
กรณีคนต่างชาติได้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาจีนต่อประเทศจีนหรือประชาชนจีนนอกเขตอาณาจักรประเทศจีน หากการกระทำความผิดดังกล่าวตามกฎหมายอาญาจีนกำหนดโทษไว้เกินกว่า 3 ปี ให้นำกฎหมายอาญาจีนมาบังคับใช้ เว้นแต่ การกระทำนั้นกฎหมายอาญาของประเทศที่เกิดการกระทำความผิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา
กรณีการกระทำความผิดตามที่กฎหมายอาญาจีนบัญญัติว่าเป็นความผิดนอกเขตอาณาจักรประเทศจีน ผู้กระทำความผิดยังคงต้องรับโทษทางอาญาตามกฎหมายอาญาจีน แม้การกระทำความผิดนั้นจะได้มีการพิจารณาพิพากษาตัดสินลงโทษแล้วในต่างประเทศ  กฎหมายอาญาจีนยังคงมีสิทธิบังคับใช้กับการกระทำความผิดดังกล่าว แต่ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศแล้ว บุคคลผู้นั้นอาจไม่ต้องรับโทษซ้ำอีกในประเทศจีนหรืออาจได้รับลดหย่อนผ่อนโทษตามความเหมาะสม
 
       (ข) เวลาการบังคับใช้
  
           โดยหลักแล้ว กฎหมายอาญาย่อมมีผลบังคับกับการกระทำความผิดในขณะที่กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ กรณีกฎหมายอาญามีผลย้อนหลังไปบังคับใช้กับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่กฎหมายอาญาจะมีผลบังคับใช้หรือไม่นั้น แยกพิจารณา ดังนี้
              - หากว่ากฎหมายเดิมที่บังคับใช้ในขณะที่มีการกระทำ บัญญัติว่า การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดทางอาญา ก็ให้ใช้กฎหมายในขณะนั้นบังคับ
              - หากว่ากฎหมายเดิมที่บังคับใช้ในขณะที่มีการกระทำบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญาและต้องรับโทษทางอาญา และกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบันก็ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดด้วย ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้นั้นตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายในขณะที่มีการกระทำความผิด
              - หากว่ากฎหมายอาญาที่บังคับใช้ในปัจจุบันไม่ถือว่าการกระทำใดเป็นความผิดหรือเป็นการกระทำที่มีความผิดแต่ต้องรับโทษน้อยลงแล้ว ให้ใช้กฎหมายอาญาที่ฉบับปัจจุบันบังคับใช้แก่กรณีนั้น
              - ในกรณีที่ก่อนกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบันจะบังคับใช้ หากมีการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาเดิมและได้มีการพิพากษาลงโทษไปแล้ว ให้บังคับตามคำพิพากษานั้นต่อไป (กฎหมายใหม่ไม่ถือว่าเป็นการนิรโทษกรรม การกระทำความผิดตามกฎหมายเก่า)
 
   การกระทำความผิดทางอาญา
 
       การกระทำใดๆ ที่เป็นภัยต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคงและบูรณาการของประเทศ การแบ่งแยกดินแดน การเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบเผด็จการโดยประชาชน การล้มล้างระบบสังคมนิยม  การทำลายความสงบเรียบร้อยของประชาชน การทำลายความเป็นระเบียบเรียบร้อยของระบบเศรษฐกิจ  การละเมิดทรัพย์สินของแผ่นดินหรือของมวลชนผู้ใช้แรงงานหรือของชุมชน  การละเมิดทรัพย์สินของปัจเจกชน  การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน การละเมิดสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่เป็นภัยต่อสังคม ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาและต้องรับโทษตามกฎหมาย 
 
        การกระทำที่เป็นความผิดทางอาญาและต้องรับโทษตามกฎหมายนั้น มีลักษณะ ดังนี้
 
       (ก) จะต้องเป็นการกระทำที่เป็นผลร้ายต่อสังคม
 
             การกระทำความผิดทางอาญานั้นจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในทางภาวะวิสัยแล้วเท่านั้น ลำพังเป็นแค่ความคิดแต่ยังไม่มีการกระทำใดๆ ที่แสดงออกมาทางกายภาพย่อมไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา
 
       (ข) จะต้องเป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย
 
             การกระทำใดๆ ที่เป็นผลร้ายต่อสังคมนั้น เมื่อได้แสดงออกมาทางกายภาพแล้ว จะเป็นการกระทำความผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อมีบทบัญญัติห้ามไว้ในกฎหมายอาญาเท่านั้น  จึงจะถือว่าเป็นการกระทำผิดตามอาญา
 
       (ค) จะต้องเป็นการกระทำที่ต้องรับโทษทางอาญา
  
          การกระทำที่เป็นผลร้ายต่อสังคมซึ่งได้แสดงออกทางกายภาพซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้  เพราะการกำหนดโทษถือเป็นผลอันเนื่องมาจากการกระทำที่กฎหมายได้ห้ามไว้และการกระทำนั้นเป็นผลร้ายต่อสังคม
            การกระทำใดๆ ที่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญานั้น  จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขทางด้านอัตวิสัยและเงื่อนไขทางด้านภาวะวิสัย กล่าวคือ เงื่อนไขทางอัตวิสัยต้อง ประกอบด้วยผู้กระทำและเจตนาของการกระทำ เงื่อนไขทางภาวะวิสัยต้องประกอบด้วยสิ่งที่ถูกกระทำและผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ถูกกระทำ 4 ปัจจัยดังกล่าวนี้จะต้องเกิดขึ้นครบถ้วน จึงจะครบองค์ประกอบของการกระทำความผิดทางอาญา
 
   องค์ประกอบของการกระทำความผิดทางอาญา  
        (ก) ผู้กระทำความผิด
 
             หากไม่มีผู้กระทำความผิดย่อมไม่มีการกระทำความผิดและไม่มีภัยต่อสิ่งที่ถูกกระทำ ผลก็คือ ย่อมไม่มีการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้น ผู้กระทำความผิดได้เป็นทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลหรือองค์กรที่กฎหมายรองรับ
             - บุคคลธรรมดา บุคคลที่จะต้องรับผิดทางอาญาตามกฎหมายอาญาจีน กำหนดไว้ดังนี้
 
            พิจารณาในแง่อายุ
 
             • บุคคลที่มีอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์ เมื่อการกระทำความผิดอาญาจะต้องรับผิดทางอาญา
              • บุคคลที่อายุครบ 14 ปี แต่ยังไม่ครบ 16 ปีบริบูรณ์ จะต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำความผิดอาญาเฉพาะความผิดดังนี้ เจตนาฆ่าคน คือ ความผิดฐานเจตนาทำร้าย ซึ่งผลทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายสาหัส ความผิดฐานข่มขืน ความผิดฐานชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ ความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติด ความผิดฐานวางเพลิง ความผิดฐานก่อวินาศกรรม ความผิดฐานวางยาพิษ
              • บุคคลที่อายุยังไม่ครบ 14 ปีบริบูรณ์ ไม่ต้องรับผิดทางอาญา
 
            พิจารณาในแง่ความสามารถ
 
              • บุคคลผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่สูญเสียจิตสำนึกในการแยกแยะความถูกผิดชั่วดี หรือไม่สามารถควบคุมการกระทำของตนเอง เช่น บุคคลวิกลจริต ไม่ต้องรับผิดทางอาญา แต่ถ้าหากว่า บุคคลที่เป็นโรคจิต หรือโรคประสาท ในขณะที่กระทำความผิดยังมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจะต้องรับผิดทางอาญา
              • บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ หมายถึงบุคคลที่รู้สึกผิดชอบชั่วดีแต่ความสามารถในการควบคุมการกระทำของตนเองไม่สมบูรณ์ เช่น คนหูหนวกและเป็นใบ้  คนตาบอด  คนโรคจิตหรือโรคประสาทที่ยังสามารถควบคุมการกระทำของตนเองได้ บุคคลเหล่านี้จะต้องรับผิดทางอาญา แต่มีเหตุบรรเทาโทษหรือลดหย่อนผ่อนโทษ
              • บุคคลทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งรู้จักรับผิดชอบชั่วดี และสามารถควบคุมการกระทำของตนเองได้ จะต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำความผิดของตน
 
              กรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลธรรมดานั้น มีความผิดบางประเภทที่ผู้กระทำความผิดจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษจึงจะต้องรับผิดในการกระทำของตน เช่น คดีเกี่ยวกับการรับสินบน ผู้ที่กระทำการรับสินบนจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น
 
              - นิติบุคคลหรือองค์กรที่กฎหมายรองรับ 
 
                 ผู้ที่ต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำของตน นอกจากบุคคลธรรมดาดังที่กล่าวแล้ว นิติบุคคลหรือองค์กรที่กฎหมายรองรับก็อาจจะต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำของตนได้ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หน่วยงาน องค์กรต่างๆ  การลงโทษทางอาญากรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคลหรือองค์กรที่กฎหมายรองรับนั้นใช้ระบบการลงโทษคู่ กล่าวคือ ลงโทษนิติบุคคลหรือองค์กรนั้นด้วยการปรับเป็นเงิน และลงโทษผู้แทนของนิติบุคคลหรือองค์กรนั้น หรือบุคคลที่ต้องรับผิดโดยตรงร่วมกับนิติบุคคลหรือองค์กรนั้นด้วยโทษจำคุกหรือปรับเป็นเงิน
 
        (ข) องค์ประกอบภายใน (เจตนาของผู้กระทำความผิด)
 
            ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ เจตนา ประมาท วัตถุประสงค์ และสิ่งจูงใจ
 
             - เจตนา เจตนาทางอาญา หมายถึง บุคคลที่รู้ว่าการกระทำของตนจะก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคม และกระทำหรืองดเว้นเพื่อหวังให้ผลนั้นเกิดขึ้น
              - ประมาท ประมาททางอาญา หมายถึง บุคคลซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่าการกระทำของตนอาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคม แต่มิได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ หรือเชื่อง่ายๆว่าตนเองสามารถหลีกเลี่ยงได้ จนทำให้เกิดผลร้ายต่อสังคม
              - วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ทางอาญา หมายถึง ผลที่ผู้กระทำความผิดทางอาญาคาดหวังไว้ว่าจะให้บรรลุผล
              - สิ่งจูงใจ สิ่งจูงใจทางอาญา หมายถึง สาเหตุที่กระตุ้นให้ผู้กระทำ กระทำไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ สาเหตุเหล่านี้นอกจากเป็นตัวกระตุ้นแล้ว อาจเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการกระทำความผิดก็ได้
 
        (ค) สิ่งที่ถูกกระทำ
 
              หมายถึง ความสัมพันธ์ของสมาชิกในทางสังคมซึ่งกฎหมายได้ให้ความคุ้มครองไว้ ถูกละเมิดโดยการกระทำของผู้กระทำความผิดทางอาญา ความผิดทางอาญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นได้ก่อผลร้ายต่อสิ่งที่ถูกกระทำ
 
        (ง) ผลที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ถูกกระทำ
              หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อสิ่งที่ถูกกระทำจากการกระทำของผู้กระทำความผิดทางอาญา
 
   การกระทำที่ต้องรับผิดทางอาญา
 
       (ก) ความผิดฐานเตรียมการ
 
             หมายถึง การได้เริ่มลงมือกระทำการด้วยการตระเตรียมอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้ในการกระทำผิด หรือการสร้างเงื่อนไขเพื่อเอื้ออำนวยต่อการกระทำความผิด ถือเป็นการแปรความคิดสู่การปฏิบัติและมุ่งที่จะกระทำต่อสิ่งที่ถูกกระทำ หากการเตรียมการนั้นไม่อาจบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ผู้กระทำได้ตั้งใจไว้อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยภายนอกซึ่งมิใช่ความสมัครใจที่จะยุติการกระทำโดยผู้กระทำเอง การเตรียมการนั้นย่อมเป็นความผิดอาญา
 
             ความผิดฐานเตรียมการ จึงต้องประกอบด้วย
 
             - ได้มีการเริ่มลงมือกระทำการด้วยการเตรียมอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการกระทำผิด หรือการสร้างเงื่อนไขเพื่อเอื้ออำนวยต่อการกระทำความผิด
             - การเตรียมการได้ยุติการกระทำลงในระหว่างดำเนินการซึ่งยังไม่บรรลุผลสำเร็จ
             - การยุติการกระทำมีสาเหตุเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกซึ่งมิได้เกิดจากความตั้งใจหรือสมัครใจของผู้กระทำเอง
             ความผิดฐานเตรียมการ ถือว่าเป็นขั้นตอนขั้นแรกของการกระทำความผิดที่มีผลร้ายต่อสังคม แต่เป็นความผิดเพียงน้อยนิด กฎหมายอาญาถือว่าความผิดฐานเตรียมการต้องรับโทษ แต่เป็นโทษสถานเบา หรือเป็นเหตุบรรเทาโทษ หรือยกเว้นโทษได้
 
       (ข) ความผิดฐานยุติการกระทำความผิด
 
            หมายถึง ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่ยุติการกระทำของตนเอง หรือป้องกันไม่ให้การกระทำนั้นเกิดผลร้ายต่อสังคมด้วยความสมัครใจของผู้กระทำเอง การยุติการกระทำความผิดอาจเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนของการเตรียมการหรือในระหว่างขั้นตอนการกระทำความผิด หรือภายหลังจากได้กระทำตามความตั้งใจไปแล้วก่อนที่เหตุร้ายจะเกิดขึ้น
             กฎหมายอาญาจีน บัญญัติไว้ว่า ความผิดฐานยุติการกระทำความผิดนั้น หากมิได้ก่อผลร้ายต่อสิ่งที่ถูกกระทำ ย่อมได้รับยกเว้นโทษ แต่ถ้าหากพฤติกรรมนั้นได้เกิดผลร้ายต่อสิ่งที่ถูกกระทำแล้วต้องรับโทษทางอาญาแต่เป็นเหตุให้ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษได้
 
       (ค) ความผิดฐานพยายาม
 
            หมายถึง ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่สำเร็จบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้อันเนื่องมาจากมีเหตุปัจจัยภายนอกซึ่งมิได้เกิดจากความสมัครใจของผู้กระทำเองขัดขวางไว้
             กฎหมายอาญาจีน บัญญัติไว้ว่า ความผิดฐานพยายามกระทำความผิดนั้น ถือเป็นขั้นตอนที่ได้ลงมือกระทำต่อจากขั้นเตรียมการแล้ว ดังนั้นจึงต้องรับโทษตามกฎหมายแต่มีโทษเบากว่าการกระทำความผิดสำเร็จและเป็นเหตุลดหย่อนผ่อนโทษได้
 
      (ง) ความผิดสำเร็จ
 
            หมายถึง การกระทำใดๆ ที่ครบองค์ประกอบทั้งภายในและองค์ประกอบภายนอกที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งมี 3 ลักษณะ คือ
 
             - การกระทำความผิดสำเร็จเมื่อมีการกระทำ หมายถึง ผู้กระทำเพียงแต่ได้กระทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามไว้ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ความผิดชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องมีผลร้ายเกิดขึ้นสมความตั้งใจของผู้กระทำ เช่น ความผิดฐานเรียกค่าไถ่ ความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ฯลฯ
             - การกระทำความผิดสำเร็จและการกระทำเกิดผลร้ายกับสิ่งที่ถูกกระทำ  ความผิดชนิดนี้ ผู้กระทำนอกจากจะต้องได้มีการกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้แล้ว ยังจะต้องมีผลร้ายเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการกระทำของตนด้วย จึงจะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จ เช่น ความผิดฐานฆ่าคน ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ฯลฯ
             - การกระทำความผิดที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หมายถึง ผู้กระทำได้กระทำการบางสิ่งบางอย่างที่กฎหมายห้ามไว้จนเพียงพอที่จะก่อให้เกิดผลร้ายในภายหลังได้  แม้ผลร้ายนั้นจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เช่น ความผิดฐานทำลายเครื่องหมายจราจร  ความผิดฐานทำลายอุปกรณ์หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการจราจร  ฯลฯ
 
   ฐานความผิดตามกฎหมายอาญา
 
            กฎหมายอาญาจีนได้แบ่งฐานความผิดไว้ 10 หมวด คือ
 
           (ก) ความผิดเกี่ยวกับการทำลายความมั่นคงของประเทศ
           (ข) ความผิดเกี่ยวกับการทำลายความสงบสุขของสาธารณะ
           (ค) ความผิดเกี่ยวกับการทำลายความเป็นระเบียบของระบบเศรษฐกิจการตลาดของสังคมนิยม
           (ง) ความผิดเกี่ยวกับการละเมิดชีวิต ร่างกาย และสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชน
           (จ) ความผิดเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สิน
           (ฉ) ความผิดเกี่ยวกับการทำร้ายความเป็นระเบียบของการควบคุมสังคม
           (ช) ความผิดเกี่ยวกับการให้หรือรับสินบน
           (ซ) ความผิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ
           (ฌ) ความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนวินัยของทหาร
 
     โทษตามกฎหมายอาญาจีน แบ่งเป็น โทษหลัก และโทษเสริม
 
          (ก) โทษหลัก ได้แก่
     
                - โทษกักบริเวณ
                - โทษบังคับให้ใช้แรงงานหรือทำประโยชน์สาธารณะเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
                - โทษจำคุกมีกำหนดระยะเวลา
                - โทษจำคุกตลอดชีวิต
                - โทษประหารชีวิต
 
         (ข) โทษเสริม ได้แก่
  
                - โทษปรับ
                - โทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง
                - โทษริบทรัพย์
                - โทษเนรเทศ
 
 

ไม่มีความคิดเห็น: